วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปรัชญาชีวิตจริงจากความผิดพลาดของประสบการณ์ชีวิตในอดีต บทวิเคราะห์ ตอนที่ 3(ตอนจบ)

          จากปรัชญาชีวิตจริงจากความผิดพลาดของประสบการณ์ชีวิตในอดีต บทวิเคราะห์ ตอนที่ 1 และ 2 ที่ผ่านมา ผมได้วิเคราะห์ไว้ว่า ความผิดพลาดของผมที่เกิดขึ้น น่าจะมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากอะไรมากมายหลายประการ มาถึงบทวิเคราะห์ตอนที่ 3 นี้ เป็นตอนสุดท้ายซึ่งเป็นตอนจบของบทความเรื่อง ปรัชญาชีวิตจริงจากความผิดพลาดของประสบการณ์ชีวิตในอดีต ผมได้วิเคราะห์ และเสนอแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาในการปกครองดูแลเด็ก หรือเยาวชน ไม่ให้เกิดความผิดพลาดมากมายเช่นอย่างเดียวกับผม มาติดตามชมบทวิเคราะห์ ตอนที่ 3 นี้กันได้เลยครับ
          จากบทวิเคราะห์ตอนที่ 2 ผมพูดมาถึงตอนที่ผมไปนำตัวเด็กผู้หญิงที่มั่วสุมกันกับเพื่อนตามลำพัง ปราศจากการรู้เห็นของผู้ใหญ่ เพื่อนำส่งกลับไปให้พ่อแม่ผู้ปกครองอบรมเลี้ยงดูเหมือนเดิม เด็กในกลุ่มทุกคนยินยอมกลับไปอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองเหมือนเดิม มีเพียงเด็กผู้หญิงคนเดียว ไม่อยากกลับไปอยู่กับพ่อแม่อีก แม้จะให้เด็กหญิง
ต้องอยู่ที่สถานแรกรับเด็กหญิงพญาไท (ปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น และเปลี่ยนชื่อเป็น "สถานแรกรับเด็กหญิงบ้านธัญญพร") ที่มีกฎระเบียบเข้มงวด ไม่สามารถที่จะทำอะไร หรือไปไหนมาไหนได้ตามใจชอบก็ยังเอา ผมกับพ่อของเด็กพยายามพูดเกลี้ยกล่อมเด็กหญิงให้กลับบ้าน พอถามไปว่า “อยากจะกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่เหมือนเดิมเอามั้ย? พ่อแม่น่าจะดูแลเด็กหญิงได้ดีกว่าที่จะมาอยู่สถานสงเคราะห์แบบนี้” คุณรู้มั้ยว่า เด็กหญิงนั่นตอบพวกผมยังไง เค้าตอบว่า “จะขออยู่สถานสงเคราะห์ ไม่กลับไปอยู่บ้านอีกแล้ว” ในขณะที่ตอบ เด็กหญิงหน้าตาเรียบเฉย ไม่แสดงความรู้สึกใด ๆ ออกมา ไม่มีความรู้สึกผิด เสียใจ หรือเศร้าใจอะไรเลย หันไปทางพ่อ ดูท่าทางแกจะเสียใจมาก ผิดหวังที่ลูกสาวแสดงท่าทางไม่มีเยื่อไย ไม่อยากกลับไปอยู่บ้านที่อยู่มาแต่เล็กแต่น้อยอีก ผมเห็นการเจรจาท่าจะไม่เป็นผล ใจจริงก็อยากให้เด็กหญิงกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ดีกว่า เลยแย๊ปออกไปอีกทีบอก "แค่ขอโทษพ่อคำเดียว หนูก็จะได้กลับไปอยู่บ้านตามเดิมแล้ว คิดให้ดีนะ แค่ขอโทษพ่อคำเดียว พ่อจะยกโทษให้ แล้วกลับไปอยู่บ้านเหมือนเดิม" คำตอบสุดท้ายของเด็กหญิงก็ยังคงเหมือนเดิมคือ ขออยู่สถานสงเคราะห์ดีกว่าที่จะกลับไปอยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน
พ่อกับลูกสาว
พ่อกับลูกสาว
ที่มาของรูปภาพดูได้ที่ http://bit.ly/1fLBpmS
          คุณได้ฟังเรื่องจริงผ่านจอเรื่องนี้แล้วคุณคิดยังไง น่าอนาถใจนะ ผมมาวิเคราะห์เรื่องดูแล้ว ผมคิดว่า พ่อแม่น่าจะเลี้ยงดูลูกมาด้วยความรักเหมือนพ่อแม่ผู้ปกครองอื่น ๆ เค้านั่นแหละ แต่วิธีการแสดงความรักอาจจะโหดไปหน่อย พอมีสำนวนคำพังเพยว่า รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เลยยึดถือเป็นแนวปฏิบัติซะเยอะไปหน่อย ทีนี้คนตีไม่เจ็บ คนที่เจ็บคือลูกสาวที่ถูกตี ขณะถูกตีพ่อก็อาจต้องใช้คำด่าประกอบการสั่งสอน ทีนี้เด็กน่ะ บางทีเค้าทำผิดเพราะพลั้งเผลอ บางครั้งตั้งใจทำ พ่อแม่ควรดูความหนักเบาแต่ละกรณี ไม่ใช่พลั้งเผลอทำผิดก็หวดซะเต็มเหนี่ยว ตั้งใจทำก็หวดซะเต็มเหนี่ยวเหมือนกัน คุณว่ามันจะดีมั้ย เด็กจะแยกแยะไม่ได้เลยว่า น้ำหนักเรื่องไหนหนักเบารุนแรงกว่ากัน ครั้งหนึ่งที่คุณเป็นเด็ก คงรู้ดีว่า ตอนเป็นเด็ก เรื่องบางเรื่องเราพลั้งพลาดทำผิดไป เรื่องบางเรื่องเราตั้งใจทำ เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองจับผิดเราได้ เรารู้มั้ยครับว่าเราทำผิด ทุกคนรู้ทั้งนั้นแหละครับ คนที่ทำผิดแล้วไม่รู้ว่าทำผิดน่าจะมีพวก ญาอ่อน(ปัญญาอ่อน) กับพวกไม่เต็มเต็งเท่านั้นแหละ เด็กเค้าจะมีใจแบบซุปเปอร์ฮีโร่ หรือวีรบุรุษมั้ย กล้ายืดอกรับว่า “ข้าน้อยทำผิดไปแล้ว จะฆ่าจะแกงยังไงก็เชิญ” ไม่มีหรอกครับ เด็กเค้ายังดูหนังมาน้อย ตอนอย่างนี้เค้าน่าจะยังไม่เคยเจอหรอก ไม่มีเด็กคนไหนอยากโดนด่า แล้วยิ่งโดนตี ยิ่งกลัวมากกว่าการโดนด่าเข้าไปอีก เมื่อพ่อของเด็กหญิง ให้การอบรมสั่งสอนแก่เด็กหญิงครบชุดเป็นแพกเกจ เด็กหญิงโดนตีบ่อยเข้า บางครั้งก็มีเหตุผลในการตี บางครั้งก็มีอารมณ์ของความโมโหโทโสเข้ามาแทรก แต่ที่ทำไปก็ด้วยอาศัยอำนาจของความที่เป็นพ่อ ถือว่า ไง ๆ ลูกสาวต้องยอมรับการลงโทษ และรับฟังคำสั่งสอนทุกเรื่อง เรามาลองดูซิว่า ในโลกนี้จะหาคนปรกติที่ชอบถูกตีถูกด่าอยู่มั่งมั้ย ไอ้เรื่องมีหนะก็คงมีแหละ แต่คงจะหายาก นอกจากพวกมาโซคิสท์ (พวกโรคจิตที่ชอบถูกเค้าทุบตี) เท่านั้นแหละ ทีนี้เด็กหญิงคนนี้เค้าเป็นคนปรกติ เค้าจะไปทนอะไรไหว เมื่อทนไม่ไหวถึงจุดระเบิด ความอดทนสิ้นสุด ลูกสาวก็อาศัยวิชานินจาหลบหนีออกจากบ้าน ไปอาศัยอยู่กับเพื่อนที่พร้อมรองรับปัญหาต่าง ๆ ได้ทุกเรื่อง เพราะวัยวุฒิ คุณวุฒิระดับเดียวกัน มุมมองความเป็นไปของโลกเหมือนกันดีกว่า พ่อก็อุตส่าห์เป็นห่วง พยายามสืบหาจนรู้ที่อยู่ที่เด็กไปมั่วสุมกัน แจ้งตำรวจไปตรวจสอบจนพบ แต่สุดท้ายก็มาเจอเรื่องสะเทือนใจ ที่ลูกสาวไม่คิดว่าตัวเองผิด ไม่ยอมแม้เพียงเอ่ยปากขอโทษในสิ่งที่ทำไป เพื่อจะได้กลับไปอยู่ที่บ้านตามเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า พ่อแม่เลี้ยงเด็กหญิงมาแล้ว ไม่พยายามมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พ่ออาศัยอำนาจความเป็นพ่อลงโทษดุด่าเฆี่ยนตีเป็นประจำ เด็กหญิงจำยอมรับสภาพเท่าที่ทนได้ แต่เมื่อถูกลงโทษดุด่าบ่อยครั้งเข้า บางครั้งก็มีเหตุผล บางครั้งก็ไม่มีเหตุผล พอความอัดอั้นตันใจถึงที่สุด ก็ต้องหนีออกจากบ้านโดยไม่คิดหวนกลับคืนไปอีก เด็กหญิงไม่มีความผูกพันกับบ้านที่อยู่กับพ่อแม่เลยแม้แต่น้อย ถึงขนาดยอมอยู่สถานสงเคราะห์ดีกว่าอยู่บ้าน ผมงี๊อนาถใจสุด ๆ ใครที่กำลังจะมีเด็ก หรือเยาวชนมาให้อบรมเลี้ยงดู ขอภาวนาให้คุณอย่าเจอเหตุการณ์แบบนี้เลย)) หากพ่อแม่ผู้ปกครอง มีความเป็นเพื่อนกับลูกหลาน(ย้อนดูเรื่อง การปกครองแบบเพื่อนกับเพื่อน ได้ใน ปรัชญาชีวิตจริงจากความผิดพลาดของประสบการณ์ชีวิตในอดีต บทวิเคราะห์ ตอนที่ 2)รับฟังปัญหาได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะใหญ่โต หรือเล็กน้อย เมื่อเด็ก หรือเยาวชนประสบปัญหาหนักใจ ยังคงคิดถึง ยังกล้ามาเล่าให้ฟัง มาปรึกษาหารือ ขอให้ดีใจเถอะ แสดงว่าเค้านับคุณเป็นเพื่อนคนนึงของเค้าแล้ว โอกาสที่เค้าจะหนีหาย หรือทำให้เราไม่สบายใจจะเกิดน้อยลงมาก หรือแทบไม่มีเลยทีเดียว
          จะขอพูดถึงสำนวนคำพังเพย ที่เท้าความเอาไว้ช่วงก่อนที่ว่า "รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี" สักเล็กน้อย สำนวนดังกล่าว พ่อแม่ผู้ปกครองเคยได้ยินกรอกหูอยู่บ่อยครั้ง แล้วนำมายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ จริง ๆ แล้วรู้ความหมายจริง ๆ ของสำนวนคำพังเพยนี้หรือไม่ ความหมายของผู้คิดบัญญัติขึ้น ต้องการให้มีความหมายตามตัวอักษร หรือกว้างกว่านั้น ตามความคิดผม สำนวนคำพังเพยที่คิดค้นบัญญัติขึ้นมา ต้องการให้เป็นคำสอนเตือนใจ มักใช้ถ้อยคำกระทัดรัด จำง่าย สื่อความหมายได้ดี น่าที่ผู้คิดค้นบัญญัติขึ้น ต้องการให้สำนวนคำพังเพยมีความหมายกว้างกว่าตามตัวอักษร จากสำนวนคำพังเพย เราสามารถแบ่งถ้อยคำในสำนวนออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง รักวัวให้ผูก น่าจะเป็นสำนวนประกอบ ความหมายจริง ๆ ไปเน้นเอาสำนวนหลัง ความหมายของสำนวนรักวัวให้ผูก มีความหมายตรง ๆ ไม่ได้มีความหมายพิเศษอะไร หมายความว่า โดยธรรมชาติเจ้าของวัวย่อมต้องรักวัว อยากให้อยู่กับเจ้าของไปนาน ๆ  ถ้าปล่อยให้วัวอยู่ หรือเดินไปลำพัง มีโอกาสหลงหายไปได้ง่าย ผู้คิดค้นบัญญัติสำนวนคำพังเพย จึงแนะนำให้ผูกเอาไว้ วัวจะได้ไม่หลงหาย ได้อยู่กับเจ้าของไปนาน ๆ คราวนี้มาถึงสำนวนหลักกันบ้างหล่ะ สำนวนรักลูกให้ตี น่าจะมีความหมายกว้างกว่าถ้อยคำที่บัญญัติไว้ สำนวนรักลูกมีความหมายธรรมดา คือ พ่อแม่เมื่อมีลูกก็รักลูก หวังจะให้ลูกได้อยู่ดีกินดี เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ได้รับสารพัดสิ่งดี ๆ ด้วยความรัก แต่พอมาถ้อยคำหลังนี่สิ ถ้อยคำมันง่าย ๆ  แต่ผมว่าความหมายมันต้องมีมากกว่านั้น ไม่อย่างนั้นสำนวนคำพังเพยนี้ ไม่สามารถชี้แนะแนวทางปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ไปได้เลย คำว่า ให้ตี มีความหมายเป็นการลงโทษ แล้วก็ต้องลงโทษด้วยความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกด้วย พ่อแม่ที่รักลูก ย่อมปรารถนาให้ลูกอยู่ดีกินดี เติบโตเป็นคนดีอย่างที่พูดมา แต่บางขณะลูกซึ่งเป็นเด็กก็หลงทางบ้าง ดื้อ หลบเลี่ยงไม่เชื่อฟังบ้าง ไม่ฟังข้อห้ามต่าง ๆ บ้าง การที่ลูกทำผิด ถ้าเราปล่อยไว้เฉย ๆ  ไม่ทำอะไรมั่งเลย อาจเกิดผลเสีย ลูกอาจย่ามใจทำความผิดที่ใหญ่ขึ้นใหญ่ขึ้น จนแปลงกายเป็นซูเปอร์โจรไปเลยก็ได้ (เหมือนเรื่องพ่อแม่รังแกฉัน ที่ตอนเด็กลูกลักของเล็ก ๆ น้อย ๆ กลับมาบ้านพ่อแม่ก็ชมว่าดี โตขึ้นก็เล่นของใหญ่ขึ้น พอเป็นผู้ใหญ่เลยคิดการลักปลาวาฬซะงั้น (ล้อเล่งหงะ) พอเป็นผู้ใหญ่ก็เลยทำผิดจนถูกจับติดคุก สาเหตุที่เค้าทำผิดจนสุดท้ายต้องติดคุก ก็เพราะพ่อแม่สอนเค้าผิด ๆ  ลักของก็ชมว่าดี ทำผิดอื่นก็ส่งเสริม คนเมื่อทำผิดจนชินแล้ว ทำผิดเพิ่ม หรือรุนแรงขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลก เรื่องนี้ ที่น่าสงสารก็ตรงที่ว่า พ่อแม่น่าจะรักลูก อยากให้ลูกอยู่ดีกินดี โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ดันสอนเรื่องใกล้ชิดกับคุกตารางทั้งนั้น ลูกเลยซวยไป) ผู้คิดค้นบัญญัติสำนวนคำพังเพยเลยชี้แนะว่า เมื่อลูกทำผิด ก่อนที่พฤติกรรมทำผิดจะเลยเถิดใหญ่โต ให้หยุดการกระทำเค้าด้วยการตี เราลองพิจารณาการตีซิว่า มีความหมายยังไง การตีเป็นวิธีการนึงของการลงโทษ การลงโทษมีมากมายหลายวิธี เราสามารถแบ่งการลงโทษในโลกนี้ออกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือ การลงโทษทางกายภาพ ลงโทษกับเนื้อตัวร่างกายผู้ถูกลงโทษ เช่น ตี ให้ไปวิ่ง กางแขนคาบไม้บรรทัด ฯลฯ อีกแบบนึงเป็นการลงโทษทางจิตใจ เป็นนามธรรม เช่น ตำหนิให้รู้ข้อบกพร่องเพื่อให้แก้ไข ไม่พูดด้วย ตัดออกจากสมาชิกกลุ่ม ฯลฯ ถ้าเราตีความหมายไปตามตัวอักษรตรง ๆ กลายเป็นว่า ความหมายในสำนวนคำพังเพย จะมีวิธีการลงโทษคือการตีอย่างเดียว ทั้งที่การลงโทษมีวิธีการอื่นอีกตั้งเยอะ เกิดความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้น จะเห็นได้ว่า การที่เรารักวัว หรือรักลูก เราย่อมอยากให้วัว หรือลูกเป็นคนดี ด้วยวิธีการอบรมสั่งสอนต่าง ๆ ไม่ใช่ด้วยการผูก หรือการตีเพียงอย่างเดียว เด็ก หรือเยาวชน หรือคนทุกคนในโลกนี้ มีคุณสมบัติแตกต่างกันชัด ๆ อยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง เป็นพวกที่ต้องเข้มงวดกวดขัน เร่งรัดถึงจะยอมทำงาน ถ้าฝ่ายปกครองไม่เข้มงวดกวดขัน จ้ำจี้จ้ำไช คนกลุ่มนี้จะหลบ ๆ อู้ ๆ ไม่ทำงาน กับอีกกลุ่มนึง ไม่ต้องเข้มงวดกวดขันมากนัก เพียงบอกลักษณะงาน มอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบให้เท่านั้น ต่อจากนั้น เค้าจะดำเนินงานจนเสร็จตามวัตถุประสงค์ไปเลย คราวนี้มันก็ขึ้นอยู่กับว่า ลูกหลานเราเป็นคนชนิดไหน ถ้าเป็นคนชนิดที่ต้องเข้มงวดกวดขัน เราก็อาจต้องตีสอน จึงจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เกิดลูกหลานเราเป็นคนชนิดที่มีความรับผิดชอบในตัวเอง เราเกิดไปเข้มงวด ไปตีเค้า เค้าจะต่อต้านเลิกทำงานดื้อส่งไปเลย เกิดผลในแบบที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องการ ดังนั้น การจะลงโทษลูกหลาน หรือใครก็ตาม ไม่ว่าด้วยการตี หรือวิธีอะไรก็ตาม ต้องดูคุณสมบัติส่วนตัวของลูกหลานคนนั้น ๆ ว่าเป็นคนชนิดไหน เหมาะกับการปกครองแบบไหน แล้วเลือกใช้วิธีการปกครอง ตลอดไปจนถึงการลงโทษให้เหมาะ จึงจะเกิดผลดี สิ่งสำคัญจริง ๆ ที่ต้องเน้นเลย คือ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องตี (หรือลงโทษด้วยวิธีการอื่นใด) ห้ามปล่อยให้ลูกหลาน ทำสิ่งไม่ถูกต้อง แต่ก็ยังคงทำอยู่ได้โดยพ่อแม่ผู้ปกครองเพียงห้ามเค้าด้วยคำพูด "หยุดนะ" "อย่าทำนะ" แล้วเด็กเค้าก็ยังคงทำต่อไป ไม่เคยหยุดการกระทำที่ถูกคุณห้ามเลย การที่คุณห้ามแล้วไม่เกิดผลบังคับ อำนาจการปกครองของคุณจะถูกมองข้ามไปเรื่อย ๆ จนในที่สุด ณ วันหนึ่ง ลูกหลานที่อยู่กับคุณอาจไม่ฟัง ไม่สนใจคำพูดของคุณ เวลาคุณพูดเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ไม่เหลือติดสมองแม้แต่นิดเดียว

รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี
รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี
 ที่มาของรูปภาพดูได้ที่ http://bit.ly/Q6Bey3
          ในเรื่องของการลงโทษเท่าที่ผมสังเกตมานานพอดู ผลลัพธ์ในทางบวกค่อนข้างน้อย แม้จะเป็นการลงโทษด้วยความรักและปรารถนาดี (จากอุทธาหรณ์ที่ผมยกมา พ่อรักและห่วงใยเด็กหญิง มีการลงโทษลูกเพื่อให้ประพฤติตนไปในทางที่ถูกต้อง แล้วเป็นไง ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น เด็กหญิงมองไม่เห็นความรักความห่วงใยในการลงโทษ (ผมไม่ก้าวล่วงไปวิเคราะห์วิธีการ และความรุนแรงของการลงโทษนะ ผมอนุมานว่าพ่อน่าจะลงโทษด้วยวิธีการปรกติ ไม่รุนแรงเกินไป เพราะพ่อย่อมต้องรักลูกทุกคนอยู่แล้ว) พ่อลงโทษลูกสาวด้วยคิดว่า ตัวเองทำหน้าที่พ่อตามที่จำเป็นต้องทำ แต่ลูกสาวคิดต่างไป คิดว่าพ่อไม่รัก ไม่ฟังเหตุผล ใช้แต่อารมณ์ในการลงโทษ เมื่อเป็นอย่างนี้ขอไปตายเอาดาบหน้าดีกว่า จะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ที่ไม่ต้องถูกลงโทษ แม้จะอยู่สถานสงเคราะห์ก็ยังดีกว่าที่จะกลับไปอยู่บ้าน ความผูกพันของพ่อกับลูกแทบจะหมดเยื่อไยต่อกัน) เมื่อการลงโทษค่อนข้างได้รับผลเป็นไปในทางลบ ก่อนจะลงโทษลูกหลาน ควรพยายามหาช่องทางแก้ไขอื่น ๆ ก่อน เมื่อไม่สามารถหาทางแก้อื่นได้แล้ว จึงจะใช้วิธีการลงโทษเป็นแนวทางสุดท้ายในการแก้ปัญหา เพราะเห็นกันชัด ๆ แล้วว่า การลงโทษอาจได้ผลไปในทางตรงกันข้าม (โดยส่วนตัวผม ผมไม่มีลูกเป็นของตัวเอง จะมีก็หลาน 3 - 4 คน เท่าที่เราอบรมดูแลเค้าขณะที่อยู่กับเรา ผมไม่เคยตี หรือลงโทษทางกายภาพในลักษณะแบบเดียวกับการตีเลย ผมเห็นว่า เด็ก หรือเยาวชนทุกคน แม้จะอายุน้อย แต่เค้ารู้เข้าใจคำพูด กริยาท่าทางที่เราสื่อกับเค้าได้ดี พฤติกรรมที่เราไม่อยากให้เค้าทำ เราเพียงบอกผลร้ายของการกระทำให้เค้าเข้าใจ เค้าก็จะรับฟังแล้วไม่ทำอีก ผมไม่เคยต้องตีต้องลงโทษแรง ๆ เพื่อให้เค้าทำ หรือไม่ทำอะไรเลย เพียงคำพูด ก็สามารถทำให้เค้ามีพฤติกรรมตามที่เราต้องการแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งสำคัญที่สุด เราทำอะไรกับเค้าก็ตาม ขอให้ทำด้วยความรักความห่วงใย และความปรารถนาดีกับเค้า เด็กเค้ารับรู้สิ่งเหล่านี้ได้ เค้าจะไม่ดื้อ ไม่งอแง แล้วมีพฤติกรรมอย่างที่เราอยากให้เค้าเป็น)
         พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถครบถ้วน เมื่อได้อบรมเลี้ยงดูเด็ก หรือเยาวชนจริง ๆ จนมีประสบการณ์นั่นแหละ จะเป็นผู้ที่รู้ระยะห่างระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับเด็กได้ดีที่สุด รู้จังหวะเวลา วิธีการที่เหมาะสมในการเลี้ยงดูเด็ก หรือเยาวชนให้เติบโตไปตามแนวทางที่พ่อแม่ผู้ปกครอง และสังคมต้องการอย่างแน่นอน
          4. ให้ความสำคัญกับความรู้ทางวิชาการ กับความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวกับการเอาตัวให้รอดจากสังคมอันโหดร้ายให้พอเหมาะพอดี ทุกวันนี้เด็ก หรือเยาวชน ต้องเรียนรู้ทางด้านวิชาการมาก ต้องเรียนพิเศษทุกวันหยุดเสาร์อาทิตย์ (สรุปแล้ววันไหนเป็นวันหยุดกันเนี่ย) ตอนผมเป็นเด็ก (ดูบทความ ปรัชญาชีวิตจริงจากความผิดพลาดของประสบการณ์ชีวิตในอดีต ตอนที่ 1 – 5 ชีวิตวัยเด็กยุคผมมีอิสระเสรีมาก พ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่คลั่งกระแสอยากให้ลูกเป็นยอดมนุษย์ ต่างกับเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะมีหลักสูตร หรือกิจกรรมอะไรที่จะทำให้เด็กในปกครองของตนเก่งกว่าเด็กอื่น ยัดเข้าไปให้เด็กเรียนมันซะทุกอย่าง จนเด็กไม่รู้จักแล้วว่า วันหยุดมันเป็นยังไง) ผมมีความสุขอย่างมหาศาลอย่างที่เด็กเดี๋ยวนี้ยากจะพานพบ ตอนเด็ก ๆ อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ ไปเรียนหนังสือก็เรียนไปอย่างงั้นแหละ ไม่รู้หรอกว่า เรียนไปทำไม อย่าไปพูดเรื่องโตขึ้นอยากจะเป็นอะไรเลย ไม่เคยสน เด็กที่พอไม่มีตังค์ก็ขอ หรือไม่ก็จิ๊กเอาเนี่ยนะ คุณจะให้เค้าคิดเรื่องทำอาชีพอันเป็นอนาคตไกลลิบ ผมไม่รู้ แล้วก็ไม่เคยคิดหรอกว่าโตขึ้นแล้วผมจะเป็นอะไร หรือเรียนหนังสือไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร (มันมากเกินสำหรับเด็ก หรือเยาวชน) ปรากฏว่าเดี๋ยวนี้ เราอัดวิชาการให้กับเด็กเล็ก ๆ ซะเต็มเหยียด แทนที่เค้าควรจะเอาเวลาไปวิ่งเล่น พัฒนากล้ามเนื้อแขนขา ทักษะทางกีฬา พ่อแม่ผู้ปกครองผู้หวังดีที่อยากให้ลูกหลานเป็นใหญ่เป็นโต ก็บรรจุตารางเรียนแน่นเอี๊ยดเข้าไปในชีวิตของเด็ก หรือเยาวชน การใช้ชีวิตประจำวันมุ่งเป้าหมายในทางร่ำรวย ประสบความสำเร็จ หวังจะให้ลูกหลานต้องประสบความสำเร็จมากกว่าญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน จนเราลืมคิดไปเลยว่า การให้ความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวกับการเอาตัวให้รอดจากสังคมอันโหดร้าย ไม่ได้เติมเต็มเข้าไปในสมองของเค้าเลยแม้แต่นิดเดียว คนยังไงก็ต้องเป็นคน ไม่มีใครเก่งทุกอย่างโดยไม่มีจุดอ่อน พอเด็ก หรือเยาวชนไม่สามารถเรียนทางวิชาการได้ตามเป้าหมาย พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไปตอกย้ำว่าเป็นความผิดพลาดของเด็ก เป็นความไม่เอาไหน เสื่อมเสียต่อวงศ์ตระกูล เด็กก็เลยแกล้งโดดเอาหัวโหม่งพื้นกะโหลกแตกไปตายโรงบาลเล่นซะงั้น (เรื่องนี้เป็นเรื่องเกิดขึ้นจริงหลายปีมาแล้ว) คุณพ่อแม่ผู้ปกครองจะเศร้าเสียใจกันขนาดไหน จะย้อนกลับมาด่า หรือโทษกันไปมาอีกกี่ตลบ ก็ไม่อาจลบล้างความรู้สึกผิดที่เหมือนกับตัวเองกดดันให้ลูกตายทางอ้อมไปได้ นี่ถ้ามีลูกคนเดียวคงแทบอยากตายตามลูกไปเลย
          เรื่องการเรียนทางวิชาการ กับการเรียนรู้วิธีการเอาตัวให้รอดในสังคมเลวร้ายมีความจำเป็น และสำคัญพอ ๆ กัน การเรียนรู้ด้านวิชาการ มีความจำเป็นต่อการนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัว และครอบครัว สร้างอนาคต ส่วนการเรียนรู้วิธีการเอาตัวให้รอดในสังคมเลวร้าย จะเหมือนภูมิคุ้มกันทำให้เค้ายืนหยัดอยู่ได้ เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่ถาโถมเข้าใส่ ถ้าขาดด้านใดด้านหนึ่งไป การดำรงชีวิตต้องเกิดปัญหาขึ้นอย่างไม่มีทางเลี่ยง คุณคงไม่อยากเลี้ยงเด็ก หรือเยาวชนพอโตขึ้นมาก็เอาหัวโหม่งพื้นเล่นเป็นแน่
          เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองเอาใจใส่กับการติดอาวุธทางปัญญาแก่เด็ก หรือเยาวชน เช่นที่กล่าวมาทั้งหมดตามแนวทางการป้องกันไม่ให้เด็ก หรือเยาวชนทำผิดครบถ้วน เด็ก หรือเยาวชนจะมีหลักคิด ความรู้วิชาการ ความรู้ทั่วไป ความรู้ชีวิต วิชาเอาตัวรอดครบถ้วน โอกาสเสียคนเพราะคิดผิด คิดสั้น คิดตื้น จะไม่มีทางเกิด หายห่วง

อิคคิวซัง สุดยอดแห่งการเอาตัวรอด
อิคคิวซัง สุดยอดแห่งการเอาตัวรอด
 ที่มาของรูปภาพดูได้ที่ http://bit.ly/1kWQdo8
          5. เท่าที่กล่าวมา 4. ข้อ เป็นการแก้ปัญหาจากสาเหตุที่ตัวเด็ก หรือเยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครอง ยังไม่พูดเรื่องสำคัญสุด ๆ เรื่องนึง คือเรื่องเพื่อน เพื่อนมีอิทธิพลสูงมากกับเด็ก หรือเยาวชน เมื่อเพื่อนคนนึงทำผิด หรือชักชวนกันทำผิด คนในกลุ่มทุกคนรู้สึกว่า จะต้องร่วมด้วยช่วยกัน ถ้าไม่ร่วมมือกัน จะถือว่าไม่รักกันจริง เพื่อนกันต้องรักกัน ล่มหัวจมท้ายด้วยกัน โดดเรียนก็ต้องโดดด้วยกัน ไปตีกับคนอื่นก็ต้องไปด้วยกัน สูบบุหรี่ก็ต้องแอบสูบด้วยกัน ฯลฯ พอจะเห็นหรือยังครับ พฤติกรรมกลุ่มของเด็ก หรือเยาวชน ค่อนข้างอันตราย และน่ากลัว พร้อมแหย่ขาเข้าไปในคุกตารางได้ทุกเมื่อที่มีโอกาส พ่อแม่ผู้ปกครองคงไปติดตามห้ามปรามเค้าตลอดเวลา และทุกเรื่องไม่ได้แน่ ผมถึงแนะวิธีการป้องกัน ข้อที่ 1 ที่ให้ติดอาวุธทางปัญญาแก่เด็ก หรือเยาวชน เพื่อให้เค้าสามารถชั่งน้ำหนักทางเลือกที่เหมาะสมต่อการตัดสินใจ ได้ดีกว่าที่เราไม่ได้เตรียมอะไรติดตัวไว้ให้เค้าเลย
          ผู้ใหญ่ควรระวังให้มากว่า เด็กกับผู้ใหญ่มีมุมมองในเรื่องต่าง ๆ ผิดกัน เรื่องเดียวกัน เด็กชอบผู้ใหญ่ไม่ชอบ หรืออาจเป็นไปในทางกลับกัน ตัวอย่างเช่น เด็กโทรศัพท์ตลอดเวลา ผู้ใหญ่รู้สึกขัดตา คิดว่า มันจะมีธุระอะไรของมันนักหนา โทรได้ทั้งวัน, เด็ก หรือเยาวชนชายหญิงอายุหน่อยเดียว นั่งจีบกันจี๋จ๋าในสวนสาธารณะ ผู้ใหญ่เห็นก็ขัดตาอีกแล้ว หรือ เด็ก หรือเยาวชนเล่นเกมส์วันละหลายชั่วโมง ผู้ใหญ่ก็ว่า มันจะไม่ทำมาหารับประทานอย่างอื่นอีกเลยหรือไง ทีนี้มาเรื่องผู้ใหญ่ทำมั่ง ผู้ใหญ่จะทำงานอะไรซักอย่างยึดหลักช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม พอเด็กเห็นร้อง "โธ่ สมัยนี้ ถ้าน้ำขึ้นไม่รีบตักก็อย่าทำอะไรเลย ไม่ทันกินหรอก", ผู้ใหญ่จะทำอะไรที คิดหนักกลัวผิดพลาด เดี๋ยวติดคุกติดตะรางเป็นเรื่องใหญ่ เด็กเห็นว่า ใจไม่ถึงใจไม่เต็มร้อย อย่างงี้เมื่อไหร่จะเกิด หรือ กรณีผู้ใหญ่มองเด็ก หรือเยาวนที่จะมาคบหากับลูกหลานของตน เด็ก หรือเยาวชนคนนั้นควรประพฤติตัวเรียบร้อย มีตระกูลหรือที่มาดี ในขณะที่ลูกหลานไม่ได้คำนึงถึงสิ่งเหล่านั้นเลย คิดว่า แค่ตัวเองชอบก็พอ เรื่องอื่นไม่สน นี่คือตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้ใหญ่กับเด็กมองเรื่องเดียวกัน แต่คิดกันไปคนละทาง ดังนั้นคนเกิดคนละยุค มุมมองคนละมุม ไม่มีทางเออออห่อหมกไปด้วยกันทุกเรื่องได้ ผู้ใหญ่อยากให้เด็ก หรือเยาวชนคบแต่เพื่อนดี ๆ ไม่ชักจูงกันไปทำผิด แต่ปรากฏว่า เพื่อนที่มาบ้านแต่ละคน แต่งตัว กิริยาท่าทาง ผมเผ้า เข้าตำราน่าจะเป็นโจรห้าร้อย อย่างไม่ใช่ไม่ใช่ก็ต้องมีถึงสี่ร้อยห้าสิบแหละ เห็นกันจะ ๆ อย่างนี้ เราควรจะทำยังไงให้เค้าปลอดภัยจากเพื่อนที่เห็นแววไม่ดีเหล่านี้
          เด็ก หรือเยาวชนรักเพื่อน เห็นเพื่อนเป็นคนสำคัญ ตราบใดที่ผู้ใหญ่ยังไม่รู้แน่ชัดว่า เพื่อนของเค้ามีพฤติกรรมไม่ดีอย่างแน่ชัด อย่าไปกีดกัน แสดงอาการรังเกียจเพื่อนของเค้าอย่างเด็ดขาด อย่างที่เคยบอก คนหน้าตาท่าทางเหมือนโจรอาจดี แต่คนหน้าตาท่าทางเรียบร้อยกลับเป็นโจรก็มีเยอะไป การมองคนแต่เพียงภายนอกบอกได้แต่เพียงคน ๆ นั้น ใส่กางเกงตูดขาด ใส่เสื้อสีสวย แต่งตัวดี ฯลฯ แต่ไม่ได้บอกว่า เป็นคนดี หรือเลว ผมถึงเตือนไว้ก่อนว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้ว่า เพื่อนของลูกหลานดีเลวยังไง อย่าเพิ่งด่วนสรุปจากการคาดคะเนของเราคนเดียว ต้องสืบดูจนรู้แน่ชัดเสียก่อนว่า ไม่ดีแน่ ๆ ถึงค่อยมาดำเนินวิธีการไม่ให้คบหากับเพื่อนที่ประพฤติไม่ดีคนนี้อีกต่อไป ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต้องพูดให้ลูกหลานเข้าใจว่า การที่เราไม่อยากให้คบคนไม่ดีก็เพราะเราพบพฤติกรรมไม่ดีของเพื่อนแน่ชัดแล้ว ถึงไม่อยากให้คบหากันต่อไป กลัวจะฉุดพากันลงเหวไป เด็ก หรือเยาวชนคบหาทำกิจกรรมกัน ควรสนับสนุนให้มาทำกิจกรรมในสายตาของผู้ใหญ่ อย่าแสดงอาการรังเกียจ เด็กหรือเยาวชนจะรู้สึกไม่ให้เกียรติเค้า ทำไมถึงต้องต่อว่า หรือแสดงว่ารังเกียจเพื่อนรักของเค้า เมื่อผู้ใหญ่เข้ามาจู้จี้จุกจิก แสดงความน่ารำคาญอย่างนี้ เค้าจะหลบเลี่ยงไปทำกิจกรรมที่อื่นนอกสายตา นอกการรับรู้ของเรา เราจะไม่รู้อะไรอีกเลย ตราบจนเกิดเรื่องร้ายที่แก้ไม่ได้ด้วยตัวเองแล้วนั่นแหละ เราถึงจะรู้วีรกรรมของพวกเค้า การควบคุม ป้องกันความผิดพลาดในสิ่งใด ถ้าสิ่งนั้นอยู่ในความรู้เห็นตลอดเวลา การควบคุม หรือป้องกันสามารถทำได้โดยง่าย ยิ่งห่างการรู้เห็นมากเท่าไหร่ ยิ่งควบคุมป้องกันยากมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ต้องสนับสนุนให้เด็กหรือเยาวชนทำกิจกรรมอยู่ในความรู้เห็นของผู้ใหญ่ให้มากที่สุด ยิ่งผู้ใหญ่คุ้นเคยกับเด็ก หรือเยาวชน ไม่มีเงื่อนไขขัดแย้งต่อกัน ความรู้สึกเป็นเหมือนเพื่อนที่จะปรึกษากันได้ทุกเรื่อง เด็ก หรือเยาวชนจะไม่หลบเลี่ยงหนีหายจากผู้ใหญ่ไปไหน
          ผู้ใหญ่เรารู้ทั้งรู้ว่าเด็ก หรือเยาวชนคบกัน มีโอกาสทำสิ่งที่ผิดพลาด แต่ก็จำเป็นที่จะต้องให้เค้าคบเพื่อน เราคงปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า คนเป็นสัตว์สังคม วงการไหนก็ต้องเกี่ยวข้องกับคน ถ้าลูกหลานไม่คบหาเล่นกับเพื่อนบ้าง เค้าจะขาดทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับคน ถึงขั้นอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับการเข้าสังคมได้ ถ้าคนมีเครือข่ายทางสังคมน้อย โอกาสด้านต่าง ๆ ที่จะได้รับ หนทางธุรกิจ ช่องทางการติดต่อต่าง ๆ ฯลฯ จะเสียเปรียบคนมีเครือข่ายทางสังคมเยอะ เปรียบเหมือนเค้ามีเส้นทางเดินไปสู่จุดหมายได้หลายทาง แต่เราต้องไม่ลืมว่า สังคมทุกวันนี้โหดร้าย คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกัน อาจไม่ได้ปรารถนาดีต่อกัน ต่างก็หวังเอาประโยชน์จากกันและกัน ถึงขนาดโกงกันซึ่ง ๆ หน้าเลยก็มี แล้วยิ่งเพื่อนในขณะเป็นเด็ก หรือเยาวชนยิ่งอันตราย เค้าจะกล้าทำผิดไม่ได้กลัวคุกตารางเลยทีเดียว ถ้าเราไม่สอดส่องคอยกลั่นกรองเพื่อนของลูกหลาน อาจจะเกิดกรณีคล้ายไอ้กล้วยที่มาชวนผมลักตังค์บ้านท้ายซอย เหมือนผมกับเฮียเล็กที่ชวนกันทำระเบิดขวด ยิงปืน ฯลฯ ผู้ใหญ่คงไม่สามารถจะปิดรูรั่วไม่ให้ลูกหลานคบเพื่อนที่ทำผิดได้ถึง 100% แต่ถ้าเราใส่ใจ สอดส่องคอยดูความผิดปรกติของลูกหลาน เราจะมองเห็นร่องรอยความผิดปรกติของลูกหลานได้ไม่ยาก อย่างกรณีของผม อยู่ดี ๆ ไม่ได้ขอตังค์ป่าป๊า แต่ดันมีตังค์ไปซื้อปลากัดหม้อซะหลายตัว เคยกลับบ้านเร็ว ดันกลับดึกบางทีถึงเช้าเลย ถ้าเราสอบถามประกอบการตามสอดส่องดู เราจะพบสิ่งผิดปรกติได้ไม่ยาก เด็ก หรือเยาวชนอายุยังน้อย ประสบการณ์ชีวิตยังไม่มี ปกปิดหลบเลี่ยงผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากกว่าไม่ได้หรอก ขอเพียงใส่ใจสอดส่องดูแล ปัญหาการคบเพื่อนไม่ดีน่าจะลดน้อยหรือไม่มีเลย
          การป้องกันที่กล่าวมา 5 ข้อ เอาไว้เป็นแนวทางอบรมเลี้ยงดูเด็ก หรือเยาวชนเบื้องต้น แต่คนเรามีหลายแบบ การรับรู้เรียนรู้เรื่องเรื่องเดียวกันยังเข้าใจไม่เหมือนกัน บางคนรู้ทั้งรู้ว่า ข้างหน้าเป็นเหวก็ยังอยากไปดู ไปปีนป่าย พลาดท่าเป็นเละก็ยังอยากดูอยากลอง ผมก็เช่นกัน เห็นคนเจ๊งกะบ๊งเพราะการพนันนับไม่ถ้วน ยังนึกว่าตัวเองไม่เหมือนเค้า ถ้าเป็นเซียนก็ต้องเป็นเซียนเหนือเซียน สามารถศึกษาลึกซึ้งจนประสบความสำเร็จร่ำรวยขึ้นมาได้ ซึ่งไม่ได้เป็นจริงขึ้นมาได้เลย ที่พูดมาเพื่อจะให้เห็นว่า แม้คนโตยังหลงผิด ดื้อรั้น ดันทุรัง เด็ก หรือเยาวชนคงไม่ต้องไปพูดถึง เมื่อเค้าหลงเดินทางผิดแล้ว เราจะทำยังไง จึงจะดึงให้เค้ากลับมาในแนวทางที่เรา และสังคมต้องการ
          1. เมื่อเด็ก หรือเยาวชนหลงผิด ผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือคนอื่น ต้องมีใจเมตตากรุณา และให้อภัยอย่างมาก (เด็ก หรือเยาวชนบางคน ทำผิดซ้ำหลายครั้ง ถ้าเราเมตตากรุณา และให้อภัยเค้าแบบธรรมดา ให้อภัยเค้าแค่ครั้งสองครั้ง เกิดเค้าทำผิดอีกเป็นครั้งที่สาม เราจะตัดหางเค้าปล่อยวัด แล้วจะมีประโยชน์อะไรกับการที่เราเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนเค้ามาแต่ต้น สุดท้ายก็ปล่อยเค้าเป็นไปตามยถากรรม เค้าจะไร้ค่า และยิ่งเตลิดไปจากแนวทางที่สังคมต้องการจนสุดกู่  จุดจบไม่พ้นติดคุก หรือตายนั่นแหละ) และทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า คนทุกคนหลงผิดกันได้ทั้งนั้น การหลงผิดไม่มีกำหนดจำนวนครั้ง คนบางคนทำผิดซ้ำผิดซากจนน่าฉงนว่า สติเสียไปแล้วหรือไง ถึงได้ทำผิดได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างนี้ แล้วไม่เพียงแค่เด็ก หรือเยาวชนกระทำผิด แม้กระทั่งผู้ใหญ่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชนก็ยังไม่วายทำผิด นับประสาอะไรกับเด็ก หรือเยาวชนที่มีวุฒิภาวะน้อย อ่อนด้อยประสบการณ์จะไม่หลงผิดไปบ้าง ผู้ใหญ่หลากหลายอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับเด็ก หรือเยาวชน เช่น ตำรวจ นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่สถานพินิจ และคุ้มครองเด็ก ฯลฯ ต้องรู้ความจริงที่ว่านี้ ไม่ว่าเด็ก หรือเยาวชนหลงทำผิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กกระจิ๊ดริด หรือใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม เราไม่สามารถกำจัด หรือตัดขาดเค้าออกไปจากสังคมได้ ยังไงเค้าต้องกลับมาอยู่รวมกับเราอยู่ดี การให้อภัยด้วยใจเมตตากรุณาอย่างมาก ถึงจะพอปรับเปลี่ยนดึงให้เค้ากลับมาในแนวทางที่เรา และสังคมต้องการได้ ถ้าเด็ก หรือเยาวชนทำผิด แล้วผู้ใหญ่ไปโกรธเคืองลงโทษเค้า แก้แค้นเค้า หรือปล่อยเค้าเป็นไปตามยถากรรม จะยิ่งไปตอกย้ำความคิดความเชื่อของเค้า ที่คอยแต่จะคิดว่า “ไม่เคยมีใครรักใครสนใจเค้าจริงซักคน เค้าจะทำอะไรก็ไม่เคยมีใครมาใส่ใจหรอก” เค้าอาจหนีเตลิดเปิดเปิง หรือมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมหนักข้อขึ้นไปยิ่งกว่าเก่าอีกก็ได้ แล้วการปล่อยปละละเลยเค้า ยังเท่ากับเราผลักภาระทับถมให้กับสังคมที่แบกรับสารพันปัญหาอยู่แล้วอีกด้วย ทางที่ถูก เราควรจะต้องค่อย ๆ ปรับแก้ไขปัญหาไปทีละขั้นตอนเท่าที่ทำได้ เด็ก หรือเยาวชนผู้หลงทำผิดจำนวนมาก เติบโตขึ้นมาจากครอบครัวที่มีปัญหาการได้รับความรักความเอาใจใส่อย่างไม่พอดี เด็กหรือเยาวชนบางคนก็ขาดความรัก ความเข้าใจ ขาดการเลี้ยงดูปลูกฝังอุปนิสัยดี ๆ ส่วนบางคนก็ได้รับความรักเกินจนล้นจนแทบไม่อยากจะได้ เด็กที่เลี้ยงขาด ๆ เกิน ๆ พวกนี้ พอโตขึ้นมา มุมมองที่เค้ามองสังคมจะเป็นไปในแง่ลบ เค้าจะคอยคิดว่า ไม่เคยมีใครรัก และเห็นใจเค้าจริงซักคน การที่เค้าจะทำดีทำเลวย่อมไม่มีใครใส่ใจ จึงประชดสังคมไปในแนวทางต่าง ๆ นา ๆ ตามที่ตนถนัด บางคนก็ดื่มสุรา บางคนก็ติดยาเสพติด บางคนก็ชอบตีรันฟันแทงกับชาวบ้าน ฯลฯ เด็ก หรือเยาวชนหลงผิดพวกนี้ คุณไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในเร็ววัน ต้องค่อย ๆ แก้ปัญหาไปทีละเปลาะทีละเปลาะ เมื่อเค้าเห็นความปรารถนาดีอย่างจริงใจของผู้ใหญ่ หรือผู้เกี่ยวข้องรอบข้าง และเมื่อวัยของเค้าโตขึ้น ความรู้ ประสบการณ์ วุฒิภาวะมากขึ้น เค้ามีโอกาสปรับตัวกลับมาอยู่ในแนวทางที่สังคม หรือพ่อแม่ผู้ปกครองต้องการได้มาก
          2. ส่งเสริมให้เด็ก หรือเยาวชนเหล่านี้มีวิชาชีพติดตัว หรือมีโอกาสที่จะอยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีของความเป็นคน
          เด็ก หรือเยาวชนที่หลงทำผิด ถ้าเป็นสถานเบาอย่างผม ยังไม่ถูกจับกุมดำเนินคดี ก็ต้องคอยหมั่นดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิดให้มากขึ้น เพราะรู้ว่า เด็ก หรือเยาวชนมีความโน้มเอียงที่จะทำผิด ไม่ว่าจะเป็นเพราะมีความคิดแบบผิด ๆ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะตัวเองที่โลภไม่รู้จักพอ ฯลฯ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหมั่นเติมเต็มความรู้ความคิดที่ถูกต้อง ครบถ้วน มีเหตุมีผลให้กับเด็ก หรือเยาวชน เพื่อเค้าจะได้สามารถคิด ตัดสินใจกระทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เหมาะควร เป็นไปตามแนวทางที่พ่อแม่ผู้ปกครองเคยชี้แนะไว้ก่อนแล้ว ไม่ใช่ต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ซึ่งจะเสี่ยงต่อการทำสิ่งผิดพลาดขึ้นได้ สำหรับเด็ก หรือเยาวชนที่หลงผิดแล้วโชคไม่ดี ถูกจับกุมนำตัวไปดำเนินคดีซะแล้วนั้น เค้าต้องถูกนำตัวไปอบรมยังสถานพินิจ และคุ้มครองเด็ก (บ้านเมตตา บ้านกรุณา ฯลฯ) เด็ก หรือเยาวชนพวกนี้แตกต่างออกไป เค้าจะรู้สึกแปลกแยกจากสังคม คอยจะรู้สึกว่า สังคมไม่ยอมรับ ต่อต้านพวกเค้า เราต้องระมัดระวังการกระทำต่าง ๆ กับพวกเค้าให้ละเอียดยิ่งขึ้น อย่าให้เค้าเกิดความคิดอย่างที่กล่าวมาขึ้นได้
          จากนั้นเราต้องเพิ่มคุณค่าให้กับเค้า ให้เค้ามีวิชาชีพเลี้ยงตัว หรือมีโอกาสทำอะไรสำเร็จได้ด้วยตัวเอง เด็กหรือเยาวชนผู้หลงทำผิด ส่วนใหญ่การเรียนภาควิชาการปรกติจะค่อนข้างมีปัญหา เค้าจะมีปัญหามั่วไปหมดจนในที่สุด มักไม่รอดจากการถูกไล่ออกมั่ง เชิญให้ออกมั่ง เมื่อต้องออกจากการเรียนภาควิชาการปรกติ เค้าจะมีทางเดินที่เหมาะสมอะไรได้อีก ก็ทางวิชาชีพต่าง ๆ ไง พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตว่า ลูกหลานมีความชอบ ความถนัด ความสนใจ หรือมีพรสวรรค์ด้านไหน ส่งเสริมให้เค้าได้ทำไปตามความชอบ ความถนัด ความสนใจ หรือพรสวรรค์ของเค้า เค้าก็จะมีวิชาชีพไว้เลี้ยงตัว มีรายได้ มีความภาคภูมิใจที่สามารถเป็นที่พึ่ง เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมได้ คนถ้าเลือกได้ ไม่มีใครอยากเลวหรอก ที่ทำไป อาจเกิดจากสังคมไม่เปิดโอกาสให้เค้ากลับตัวเป็นคนดีก็เป็นได้ เค้าถึงได้เตลิดเปิดเปิงถลำลึกเข้าไปในทางที่ผิดมากขึ้น ลองสังคมให้โอกาส ดูผมซิครับ จากโจรเปลี่ยนเป็นตำรวจทีเดียว นี่มันฟ้ากับเหวชัด ๆ กลับจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว  ดังนั้นขอให้ท่านผู้ใหญ่ทั้งหลาย ควรตระหนักไว้ให้มากว่า เด็ก หรือเยาวชน ยังไง ๆ ก็ยังเป็นเด็ก อาจทำผิดพลาดไปบ้าง ขอให้มองเค้าอย่างเข้าใจ ให้อภัย เปิดทางให้เค้าได้กลับตัว ถ้าบ้านเมืองไหน มีผู้ใหญ่ที่มีแนวคิดแนวปฏิบัติเช่นที่กล่าวมา เด็ก หรือเยาวชนที่หลงผิด มีโอกาสกลับมาเป็นคนดีของสังคมได้มากแน่นอน
          ในท้ายที่สุด ผมต้องขออภัยความผิดพลาดต่าง ๆ ที่ขยันทำ และขอบพระคุณผู้หลักผู้ใหญ่ทุกท่านที่ผมเคยคิดผิดทำผิด ล่วงเกินด้วยการ ลักขโมยตังค์ สิ่งของ หรือปลากัดหม้อ เอาหนังสะติ๊กยิงกระจก หลังคา หรือถูกบ้าน ในขณะเป็นเด็ก ด้วยความคิดอย่างผิด ๆ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ท่านที่เคยให้อภัย หรือยอมไม่เอาเรื่องกับผม (ถ้าเอาเรื่องดำเนินคดี ไม่รู้ตอนนี้ีผมจะเป็นยังไงยังไม่รู้เลย) ทำให้ผมมีโอกาสได้คิดใหม่ทำใหม่ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้แม้จะเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างสูง มา ณ โอกาสนี้
จบ ขอให้โชคดีมีลูกหลานพึ่งพาได้นะครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวัสดีครับทุกท่าน กรณีที่ท่านติดตามชมบล็อกของผมแล้วต้องการแสดงความคิดเห็น ผมเปิดกว้างสำหรับทุกท่าน ขอความกรุณาแค่แสดงความคิดเห็นให้ตรงกับเนื้อหาของผม กรณีจะแสดงความคิดเห็นที่ไร้สาระ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเลย ได้โปรดอย่าทำเลยครับ ผมขี้เกียจลบ ขอบคุณมากครับ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น